5 เรื่องควรรู้กับ ‘กองทุนรวม’

ก่อนอื่นขอออกตัวว่า บทความนี้ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อให้นักลงทุนมือใหม่ได้ทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนรวมในประเด็นต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดย makemewealth จะพยายามหาประเด็นที่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจในรายละเอียดมาขยายความเพิ่มเติม หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจนะครับ โดยในครั้งนี้มาติดตามกันเลยครับกับ 5 เรื่องควรรู้กับ ‘กองทุนรวม’

การจ่ายปันผล

กองทุนรวมโดยปกติจะสามารถจ่ายปันผลได้ ยกเว้นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ตามกฎหมายระบุห้ามไว้ เนื่องจากเน้นการสะสมมูลค่าระยะยาว

แต่สิ่งที่นักลงทุนมือใหม่อาจจะยังไม่ทราบ คือ ไม่ใช่ทุกกองทุนจะมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และกองที่จ่ายปันผล สามารถที่จะไม่จ่ายได้ หากผลการดำเนินงานไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มองว่าค่าใช้จ่ายจากการจ่ายปันผลในงวดนั้นอาจจะไม่คุ้มค่า อาจจะยกยอดไปจ่ายในงวดถัดไปแทน

ดังนั้น หากเจอว่ากองทุนที่เราสนใจมีการจ่ายปันผลแล้ว อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ 100% ว่าเราจะได้รับปันผลในแต่ละงวดแน่นอนนะครับ นอกจากนี้ ลักษณะการจ่ายปันผลของแต่ละกองทุนจะแตกต่างกันออกไป เช่น บางกองอาจจะจ่าย 1 ครั้ง ในรอบบัญชี ขณะที่บางกองอาจจะมากกว่านั้นได้ โดยเราสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายปันผลได้ที่เอกสารข้อมูล หรือที่เรียกว่า Factsheet ของแต่ละกองทุน

Auto Redemption

นอกเหนือจากการจ่ายเงินปันผลแล้ว กองทุนรวมบางประเภทยังมีการจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยในลักษณะการขายหน่วยลงทุนอัตโนมัติออกมา หรือมีชื่อเรียกว่า Auto Redemption ซึ่งการขายหน่วยลงทุนลักษณะนี้มีจุดที่แตกต่างจากการจ่ายปันผล คือ จะไม่เสียภาษี

นอกจากนี้อีกจุดแตกต่างคือ การจ่ายปันผลจะทำให้ NAV ลดลง จำนวนหน่วยยังเท่าเดิม ขณะที่การจ่าย Auto Redemption จะทำให้จำนวนหน่วยลดลง แต่ NAV เท่าเดิม นับว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนอีกแบบ สำหรับนักลงทุนที่ชอบมีกระแสดเงินสดออกมาให้เราใช้จ่ายครับ

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายกองทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ลงทุน และเก็บจากตัวกองทุน

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุน จะมี 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end Fee) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราซื้อกองทุนกับทางบลจ. และค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (Back-end Fee) เกิดขึ้นเมื่อรับขายกองทุนคืนบลจ.

ค่าธรรมเนียม 2 ตัวนี้ จะแตกต่างกันออกไปสำหรับแต่ละกองทุน บางกองทุนเรียกเก็บ Front-end Fee และ Back-end Fee บางกองเรียกเก็บเฉพาะ Front-end Fee บางกองไม่เก็บเลยก็มี ส่วนบางกองอาจจะมีการลดค่าธรรมเนียมให้กับผู้ลงทุนในบางช่วงเวลา และบางกองทุนอาจจะไม่คิดค่าธรรมเนียมกับผู้ลงทุนบางกลุ่ม เช่น นักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นต้น จะเห็นว่าค่าธรรมเนียมในส่วนนี้เราจะเสียเฉพาะเวลาที่มีการซื้อหรือขายกองทุนเท่านั้น

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน จะมี 4 ส่วนหลักๆ

ค่าธรรมเนียมการจัดการ – ค่าธรรมเนียมส่วนนี้จึงเป็นเหมือนเป็นค่าจ้างให้กับบลจ. ในการดูแลบริหารกองทุนรวมแทนเรา

ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ – เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ Trustee ในการควบคุมดูแลการบริหาร รวมถึงอาจจะช่วยเก็บรักษาสินทรัพย์กับกองทุน โดยปกติ Trustee จะเป็นธนาคารที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบลจ. ผู้ออกกองทุน

ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน เป็นค่าธรรมเนียมในการดูแลข้อมูลของผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนั้น

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ – เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้ง จดทะเบียน (สำหรับกองทุนที่เพิ่งเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หรือที่เรียกว่า IPO) ค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสารของกองทุน ค่าใช้จ่ายของผู้ตรวจสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาโปรโมทกองทุน

ค่าธรรมเนียมทั้ง 4 กลุ่มนี้ บลจ. จะเรียกเก็บจากกองทุนรวม โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายที่หักออกจาก NAV ของกองทุนนั่นเอง แปลว่าถ้ากองทุนนั้นยังดำเนินการอยู่ ในแต่ละปีจะมีการคิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และหักออกจาก NAV ของกองทุน

การซื้อขาย

โดยปกติเวลาในการซื้อขายสำหรับหุ้นจะค่อนข้างแน่นอน (นับรวมช่วง ATO และ ATC) คือประมาณ 9.30 ไปจนถึงไม่เกินประมาณ 16.40 น. สำหรับกองทุนนั้น จะมีความแตกต่างมากกว่า โดยส่วนใหญ่กองทุนกองหนึ่งจะสามารถซื้อขายผ่านหลายช่องทาง คือ ผ่านบลจ. โดยตรง ผ่านธนาคาร ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ผ่านบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ซึ่งแต่ละช่องทางอาจจะมีเวลาในการส่งคำสั่งที่แตกต่างกัน

เช่น บลน. บางแห่งจะรับคำสั่งไม่เกินเวลา 14.00 น. แต่หากซื้อขายผ่านธนาคารอาจจะได้ถึงเวลา 15.30 น. เป็นต้น ผู้ลงทุนต้องคอยศึกษาว่าช่องทางที่เราเลือกทำรายการนั้น มีเวลาในการส่งคำสั่งภายในเวลาเท่าไหร่ เนื่องจากถ้าเลยเวลาที่กำหนด รายการที่เราส่งจะกลายเป็นของวันทำการถัดไปทันที

อีกประเด็น คือ ไม่ว่าเราจะสั่งซื้อหน่วยลงทุนเวลาไหน มูลค่าที่เราจะได้รับคือ ราคา NAV ที่คำนวณ ณ สิ้นวัน ไม่ได้แปลว่าเราซื้อตอนเที่ยง ซึ่งเป็นตอนที่ตลาดหุ้นตกหนักที่สุดของวัน แล้วเราจะได้ราคา ณ ตอนนั้น ทุกคนที่ซื้อในวันทำการนั้น จะได้ราคา NAV เดียวกัน ซึ่งจะเป็นจุดที่แตกต่างจากตลาดหุ้น ซึ่งเราจะได้ราคา Real time ดังนั้น ใครที่ลงทุนในหุ้นมาก่อน ให้ระวังจุดนี้นิดนึงครับ

การปิดตัวลงของบลจ.

นักลงทุนหลายๆ คนคงเคยสงสัยว่าถ้าบลจ. ที่เราไปลงทุนซื้อกองทุน หรือบลน. ที่เราทำการซื้อกองทุนผ่าน แล้วบริษัทนั้นเกิดมีปัญหาทางด้านการเงิน หรือปิดตัวขึ้นมาจะเกิดผลกระทบอย่างไรกับกองทุนที่เราลงทุนอยู่ ?

ต้องบอกว่าสบายใจได้เลยครับ เนื่องจากบลจ. และกองทุนรวมนั้น ตามกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคลกัน ดังนั้น หากบลจ. ที่เป็นคนออกและบริหารกองทุนเกิดปิดตัวขึ้นมา เงินลงทุนในกองทุนของเรายังไม่ได้หายไปไหน ผู้ดูแลผลประโยชน์ยังคงช่วยเหลือดูแลสินทรัพย์ของเราอยู่ และจะมีบลจ. รายใหม่เข้ามาบริหารกองทุนนั้นแทน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่ากองทุนทุกกองที่เป็นกองทุนเปิด ซึ่งไม่มีกำหนดอายุของกองทุน จะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป กองทุนรวมสามารถเลิกกองทุนได้ หากเข้าเงื่อนไข เช่น มีผู้ถือหน่วยขายหน่วยลงทุนออกมาเกินกว่า 2 ใน 3 หรือกองทุนเหลือสินทรัพย์ของกองทุนน้อยกว่ามูลค่าที่กำหนดไว้ หรือโดนสั่งเลิกกองทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากมีการจัดการกองทุนไม่สอดคล้องกับนโยบายที่มีการระบุไว้ และไม่แก้ไขให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด

นี่เป็นสิ่งเล็กๆ เกี่ยวกับรายละเอียดยิบย่อยของกองทุนรวม ที่เราอยากหยิบมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน และในอนาคต ก็คงจะมีการหยิบเรื่องราวความรู้ดีๆ อื่นๆ มาอีก ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามกับ makemewealth ได้ครับ

You may also like...

1 Response

  1. 06/06/2021

    […] เช่น ลงทุนหุ้น หรือกองทุนรวม […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น